โขน มรดกแห่งการแสดงคู่สังคมไทย

โขน หรือโขนไทย คือศิลปะการแสดงของไทยที่มีแบบเป็นการเฉพาะที่ได้รวบรวมเอาศิลปะของเครื่องแต่กายที่มีลักษณะ เป็นชุดจำลองมาจากเครื่องแต่งกายของกษัตริย์ไทยแบบโบราณที่มีความสวยงามวิจิตรตระการตา มีลวดลายต่างของเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ ตามศิลปะไทยโบราณ โดยแบ่งการแต่งกายออกเป็นเป็น 3 ฝ่ายคือ

1.ฝ่ายมนุษย์ เทวดา (พระ-นาง)

ตัวพระ
ตัวนาง

2. ฝ่ายยักษ์

ตัวยักษ์

3.ฝ่ายลิง

ตัวลิง

และที่สำคัญจุดเด่นของโขนคือ หัวโขนสำหรับตัวยักษ์ และตัวลิง ส่วนฝ่ายเทวดา ตัวพระ หรือตัวนาง มักจะเป็นมงกุฏหรือชฎา

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของโขนก็คือ การร้องและการรำ ซึ่งมีรูปแบบเฉพาะของโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงการร้องและการรำที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งบทประพันธ์ที่มักนำมาเป็นการแสดงโขนนั้นก็คือ รามเกียรติ์นั้นเอง โดยเนื้อเรื่องของโขนนั้นจะเป็นการนำเนื้อเรื่องในบทประพันธ์เรื่องรามเกียรติ์ในตอนใดตอนหนึ่งโดยมีตัวละคร ทั้งตัวพระตัวนาง ลิงและยักษ์ในตอนนั้นออกมาแสดงร้องเล่นเต้นรำ ตามจังหวะบทเสภา

ประวัติความเป็นมาของโขน มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยตั้งแต่เริ่มแรกเดิมทีเป็นการละเล่นภายในซึ่งเป็นงานบันเทิง ของฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกรมวัง หรือเพื่อแสดงให้พระมหากษัตริย์หรือ เจ้าขุนมูลนาย ในวังได้รับชมเพื่อบันเทิงเริงใจ จนมาถึงในยุคปัจจุบัน ศิลปะการแสดงโขนได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และยังขยายไปยังมูลนิธิ หรือสถาบันการศึกษา และเอกชน ที่ยังคงอนุรักษ์ศิลปะนี้ไว้

ประเภทของโขน

แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

  1. โขนกลางแปลง
  2. โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว
  3. โขนหน้าจอ
  4. โขนโรงใน
  5. โขนฉาก

ตัวละครในการแสดงโขน

ตัวพระ

ตัวพระตัวนาง

การคัดเลือกตัวพระสำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ชาย ที่ลักษณะใบหน้ารูปไข่ สวยงาม หล่อเหลาคมคายเด่นสะดุดตา ท่าทางสะโอดสะองและผึ่งผาย ลำคอระหง ไหล่ลาดตรง ช่วงอกใหญ่ ขนาดลำตัวเรียว เอวเล็กกิ่วคอดตามลักษณะชายงามในวรรณคดีไทยเช่น พระลักษณ์ พระราม พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ พระลอ สังคามาระตา …ฯลฯ สวมพระมหามงกุฏหรือมงกุฎยอดชัย ห้อยดอกไม้เพชรด้านขวา มีเครื่องแต่งกายสวยงาม

ตัวนาง

การคัดเลือกตัวนางสำหรับการแสดง ตัวนางนั้นจะเป็นสตรี ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครที่เป็นตัวนางได้แก่ นางสีดา นางมณโฑ นางไกยเกษี นางเกาสุริยา เป็นเทพหรือนางอัปสรได้แก่ พระอุมา พระลักษมี เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ได้แก่ นางสุพรรณมัจฉา นางกาลอัคคีนาคราช นางองนค์นาคี และเป็นยักษ์ซึ่งในที่นี้หมายถึงยักษ์ที่มีลักษณะรูปร่างเหมือนกับตัวนางทั่วไป ไม่ได้มีรูปร่างและใบหน้าเหมือนกับยักษ์ได้แก่ นางเบญจกาย นางตรีชฏา นางสุวรรณกันยุมา และยักษ์ที่มีลักษณะใบหน้าเหมือนยักษ์แต่สวมหัวโขนได้แก่ นางสำมะนักขา อากาศตะไล ฯลฯ ซึ่งตัวละครเหล่านั้นสามารถบ่งบอกชาติกำเนิดของตนเองได้ จากสัญลักษณ์ของการแต่งกายและเครื่องประดับตามเนื้อเรื่อง

สำหรับตัวนางนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์และนางตลาด ซึ่งนางกษัตริย์จะคัดเลือกจากผู้ที่มีรูปร่างลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม โดยจะสวมมงกุฏชฎา ห้อยดอกไม้เพชรด้านซ้าย กิริยามารยาทเรียบร้อย สุภาพ นุ่มนวลอ่อนหวานตามลักษณะหญิงงามในวรรณคดีเช่นกัน ยามแสดงอาการโศกเศร้าหรือยิ้มแย้มดีใจ ก็จะกรีดกรายนิ้วมือแต่เพียงพองาม ส่วนนางตลาดนั้นจะคัดเลือกจากผู้ที่มีท่าทางกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไว มีจริต สามารถแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติตามลักษณะของตัวละคร

ตัวยักษ์

ตัวยักษ์

การคัดเลือกตัวยักษ์สำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ชาย ผู้ที่มีลักษณะคล้ายกับตัวพระ แต่ต้องมีรูปร่างสูงใหญ่ ดูแข็งแรง กิริยาท่าทางการเยื้องย่างแลดูสง่างาม โดยเฉพาะผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องรามเกียรติ์ จะฝึกหัดเป็นพิเศษเพราะถือกันว่าหัดยากกว่าตัวอื่น ๆ ต้องมีความแข็งแรงของช่วงขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการแสดงจะต้องย่อเหลี่ยมรับการขึ้นลอยของตัวพระและตัวลิง ทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่มีท่วงท่าลีลามากมายเช่น ยามโกรธเกรี้ยวจะกระทืบเท้าตึงตังเสียงดังโครมคราม หันหน้าหันหลังแสดงอารมณ์ด้วยกิริยาท่าทาง ยามสบายใจหรือดีใจ ก็จะนั่งกระดิกแขนกระดิกขา เป็นต้น

ตัวลิง

ตัวลิง


การคัดเลือกนักแสดงตัวลิง จะคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะท่าทางไม่สูงมากนัก มีกิริยาท่าทางคล่องแคล่วว่องไว ตามแบบฉบับของลิง มีการดัดโครงสร้างของร่างกายให้อ่อน ซึ่งลีลาท่าทางของตัวลิงนั้นจะไม่อยู่นิ่งกับที่ ตีลังกาลุกลี้ลุกลนตามธรรมชาติของลิง

ตัวอย่างการเล่นโขน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.